เมนู

165. อรรถกถากณิการฉทนิยเถราปทาน


อปทานของท่านพระกณิการฉทนิยเถระ มีคำเริ่มต้นว่า เวสฺสภู
นาม สมฺพุทฺโธ
ดังนี้.
แม้พระเถระรูปนี้ ก็ได้เคยบำเพ็ญกุศลมาแล้วในพระพุทธเจ้า
พระองค์ก่อน ๆ ทุก ๆ ภพนั้นจะสั่งสมแต่บุญอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระ-
นิพพานเป็นประจำเสมอ ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า
เวสสภู ท่านได้เกิดในเรือนอันมีตระกูล บรรลุนิติภาวะแล้ว ได้เป็นผู้
สมบูรณ์ด้วยศรัทธา. ในสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า
เวสสภู ทรงมีพระประสงค์จะเพิ่มพูนความวิเวก จึงเสด็จเข้าไปประทับ
นั่งยังป่าใหญ่. ลำดับนั้น แม้อุบาสกคนนั้น ก็ไปในป่าใหญ่นั้นด้วย
การงานบางอย่าง ได้พบพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งโพลงดุจกองไฟ
ฉะนั้น มีใจเลื่อมใส เก็บดอกกรรณิการ์มาทำเป็นฉัตรแล้ว กั้นเป็นเพดาน
บูชาเบื้องบนพระแท่น ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับแล้ว ด้วยอานุภาพ
แห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า เพดานดอกไม้นั้น ตั้ง 7 วันผ่านมาก็ยังไม่
เหี่ยวแห้ง คงดำรงอยู่เหมือนเดิมทุกอย่าง. แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ยังคง
เข้าผลสมบัติและนิโรธสมาบัติอยู่. เขามองเห็นความอัศจรรย์นั้นแล้ว เกิด
ความโสมนัสใจ ไหว้พระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วได้ยืนประคองอัญชลีอยู่.
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงออกจากสมาบัติแล้ว ได้เสด็จไปยังพระวิหารเดิม
นั้นนั่นแล.
ด้วยบุญอันนั้น เขาจึงได้เสวยสมบัติในเทวโลกและมนุษยโลกเสร็จ
แล้ว ในพุทธุปนาทกาลนี้ เขาได้เกิดในเรือนอันมีตระกูลในกรุงสาวัตถี
เจริญวัยแล้ว เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศรัทธา ได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระ-

ศาสดาแล้ว ไม่ติดใจในเพศฆราวาส บวชแล้ว ทำพระศาสนาของ
พระชินเจ้าให้งดงามด้วยข้อวัตรปฏิบัติ ไม่นานนักก็ได้เป็นพระอรหันต์
ระลึกถึงบุพกรรมของตนได้ เกิดความโสมนัสใจ เมื่อจะประกาศถึงเรื่อง
ราวที่ตนเคยได้ประพฤติมาแล้วในกาลก่อนนั้น จึงกล่าวคำเริ่มต้นว่า
เวสฺสภู นาม สมฺพุทฺโธ ดังนี้. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เวสฺสภู
มีวิเคราะห์ว่า ชื่อว่า เวสสภู เพราะย่อมข่มคือครอบงำพวกแพศย์ ได้
แก่ผู้เป็นพ่อค้าได้. อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า เวสสภู เพราะย่อมครอบงำ
ท่วมทับพวกแพศย์ คือมารทั้ง 5 อย่างเสียได้. ชื่อว่า สัมพุทธะ เพราะ
ทรงตรัสรู้สัจจะทั้งหลายด้วยพระองค์เอง, อธิบายว่า พระสัมพุทธเจ้าทรง
พระนามว่า เวสสภู. โดยพระนาม. บทว่า ทิวาวิหาราย มุนี มีวิเคราะห์
ว่า ชื่อว่า ทิวา เพราะย่อมรุ่งเรือง ส่องสว่าง คือทำวัตถุนั้น ๆ ให้
ปรากฏชัดเจน. การอยู่คือความเป็นไปด้วยอิริยบถ 4 ชื่อว่า วิหาร
กำหนดเวลาตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นจนถึงพระอาทิตย์ตกดิน, การอยู่ในเวลา
กลางวัน ชื่อว่า ทิวาริหาร, อธิบายว่า พระพุทธมุนีเจ้าผู้องอาจกว่านระ
ประเสริฐที่สุดในโลก เสด็จเข้าไปยังป่าใหญ่เพื่อประทับในเวลากลางวัน.
คำที่เหลือมีเนื้อความง่ายทั้งนั้นแล.
จบอรรถกถากณิการฉทนิยเถราปทาน

สัปปิทายกเถราปทานที่ 6 (166)


ว่าด้วยผลแห่งการถวายเนยใส


[168] พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าผุสสะ ผู้สมควรรับเครื่อง
บูชา ผู้ประเสริฐ ทรงยังมหาชนให้ดับ เสด็จดำเนินไปตาม
ถนน.

พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาถึงสำนักของเราโดยลำดับ
ลำดับนั้น เรารับบาตรแล้ว ได้ถวายเนยใสและน้ำมัน.

ในกัปที่ 92 แต่กัปนี้ เราได้ถวายเนยใสใดในกาลนั้น
ด้วยการถวายเนยใสนั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่ง
การถวายเนยใส.

ในกัปที่ 56 แต่กัปนี้ เราได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิพระ-
องค์หนึ่งพระนามว่าสโมทกะ ทรงสมบูรณ์ด้วยแก้ว 7 ประการ
มีพละมาก.

คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา 4 วิโมกข์ 8 และ
อภิญญา 6 เราทำให้แจ้งชัดแล้ว คำสอนของพระพุทธเจ้า
เราได้ทำเสร็จแล้ว
ดังนี้.
ทราบว่า ท่านพระสัปปิทายกเถระได้กล่าวคาถาเหล่านี้ ด้วยประ-
การฉะนี้แล.
จบสัปปิทายกเถราปทาน